« on: March 13, 2014, 11:28:16 AM »
เรื่อง นกแขกเต้าทุกๆคนมีความสุขเมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้ หลายๆคนมีความสุขกับการครอบครอง
หวงแหนทรัพย์นั้นไว้ ในขณะที่อีกหลายๆคนก็มีความสุขกับการใช้จ่ายทรัพย์นั้น
แท้จริงแล้ว เราจะแสวงหาความสุขจากทรัพย์สินได้ด้วยวิธีการใด ทำอย่างไรเราจึง
จะได้รับความอิ่มกายอิ่มใจ จากทรัพย์ของเราให้ได้มากที่สุด
มีนกแขกเต้าฝูงหนึ่งประมาณ ๕๐๐ ตัว อาศัยอยู่ในป่างิ้วบนยอดเขาแห่งหนึ่ง เมื่อถึง
เวลาหากิน ฝูงนกแขกเต้าต่างพากันบินไปกินข้าวสาลีในนาของชาวนาแคว้นมคธ
เมื่อกินข้าวสาลีอิ่มแล้ว ต่างก็บินกลับรังด้วยปากเปล่าๆทั้งนั้น ส่วนพญานกแขกเต้า
ที่เป็นหัวหน้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบข้าวสาลีอีก ๓ รวง กลับไปด้วย
ชาวนาเห็นก็แปลกใจ จึงพยายามดักจับพญานกแขกเต้าให้ได้ ด้วยการสังเกตที่ยืนของ
พญานกนั้น แล้ววางบ่วงดักไว้
วันหนึ่งพญานกถูกจับได้ ชาวนาจึงถามพญานกว่า “นกเอ๋ย ท้องของท่านคงจะใหญ่
กว่าท้องของนกอื่น เพราะเมื่อท่านกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบรวงข้าวกลับไปอีกวันละ
๓ รวง เป็นเพราะท่านมียุ่งฉาง หรือเป็นเพราะเรามีเวรต่อกันมาก่อน”
พญานกตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้มียุ่งฉาง และเราก็ไม่มีเวรต่อกัน แต่ที่คาบไป ๓ รวงนั้น
รวงหนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า รวงหนึ่งเอาไปให้เขากู้ และอีกรวงหนึ่งเอาไปฝังไว้”
ชาวนาได้ฟังก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า
“ท่านเอารวงข้าวไปใช้หนี้ใคร เอาไปให้ใครกู้ และ เอาไปฝังไว้ที่ไหน”
พญานกแขกเต้าจึงตอบว่า “รวงที่หนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า คือเอาไปเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะ
ท่านแก่แล้ว และเป็นผู้มีพระคุณอย่างมาก ทั้งให้กำเนิด และเลี้ยงดูข้าพเจ้าจนเติบใหญ่
นับว่าข้าพเจ้าเป็นหนี้ท่าน จึงสมควรเอาไปใช้หนี้
รวงที่สองเอาไปให้เขากู้ คือเอาไปให้ลูกน้อยทั้งหลายที่ยังเล็กอยู่ ไม่สามารถหากินเอง
ได้ เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยงเขาในตอนนี้ ต่อไปยามข้าพเจ้าแก่เฒ่า เขาก็จะเลี้ยงตอบแทน
จัดเป็นการให้เขากู้
รวงที่สามเอาไปฝังไว้คือ เอาไปทำบุญด้วยการให้ทานกับนกที่แก่ชรา นกที่พิการหรือ
เจ็บป่วยไม่สามารถหากินได้ เท่ากับเอาไปฝังไว้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้ว่า
การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้”
ชาวนาฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสว่า นกนี้เป็นนกกตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นนกมีความเมตตา
ต่อลูกน้อย และเป็นนกใจบุญ มีปัญญารอบคอบ มองการณ์ไกล
พญานกได้อธิบายต่อไปว่า “ข้าวสาลีที่ข้าพเจ้ากินเข้าไปนั้น ก็เปรียบเหมือนเอาทิ้งลง
ไปในเหวที่ไม่รู้จักเต็ม เพราะข้าพเจ้าต้องมากินทุกวัน วันนี้กินแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องมากินอีก
กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็ม จะไม่กินก็ไม่ได้ เพราะถ้าท้องหิวก็เป็นทุกข์”
ชาวนาฟังแล้วจึงกล่าวว่า “พญานกผู้มีปัญญา ทีแรกข้าพเจ้าคิดว่าท่านเป็นนกที่โลภมาก
เพราะนกตัวอื่นเขาหากินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็ไม่คาบอะไรไป ส่วนท่านบินมาหากิน
แล้วยังคาบรวงข้าวกลับไปอีก แต่พอฟังท่านแล้วจึงรู้ว่าท่านไม่ได้คาบไปเพราะความโลภ
แต่คาบไปเพราะความดี คือเอาไปเลี้ยงพ่อแม่ เอาไปเลี้ยงลูกน้อย และเอาไปทำบุญ
ท่านทำดีจริงๆ”
ชาวนามีจิตเลื่อมใสในคุณธรรมของพญานกมาก จึงแก้เครื่องผูกออกจากเท้าพญานก
ปล่อยให้เป็นอิสระ และมอบนาข้าวสาลีให้ พญานกรับนาข้าวไว้เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งกะคะเน
แล้วว่าเพียงพอแก่บริวาร จากนั้นจึงให้โอวาทแก่ชาวนาว่า “ขอให้ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท
หมั่นสั่งสมกุศลด้วยการทำทาน และเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าด้วยเถิด”
ชาวนาได้คติจากข้อปฏิบัติของพญานก จึงตั้งใจทำบุญกุศลตั้งแต่นั้นมาจนตลอดชีวิต
นกแขกเต้าผู้มีปัญญา รู้ว่าควรบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม นับเป็นการใช้ทรัพย์อย่างชาญฉลาด ที่ยิ่งใช้
ก็ยิ่งมีความสุขความเจริญ สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ สุขทั้งปัจจุบัน และ อนาคต
เราทุกคนเมื่อรู้จักเก็บ รู้จักหาทรัพย์แล้ว ก็ควรจะรู้จักความสุขจากการใช้ทรัพย์อย่าง
ถูกต้องด้วย เพราะการแสวงหา หรือครอบครองทรัพย์สินที่มี ไม่อาจสร้างความสุขใจ
ไม่อาจทำให้เกิดกุศลได้ เทียบเท่ากับการใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริงต่อชีวิต เครดิต :
http://narathipo.exteen.com/20110917/entry-2
Logged
พยายามให้ดีที่สุด เต็มที่ทุกนาที ไม่ยอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย